เรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ควรยอมรับในตัวลูก

หากบอกว่าการเติบโตสิ้นสุดลงในวันที่ ‘เด็กวัยรุ่น’ ก้าวผ่านกลายเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่มีลักษณะ บุคลิกภาพ และวิธีคิด-วิเคราะห์และจัดการปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง

ในวันที่เซลล์สมองรวมถึงเส้นใยประสาทถูกขัดเกลามาเป็นอย่างดี ทักษะของสมองส่วนหน้าที่หลายคนเรียกง่าย ๆ ว่า “สมองส่วนคิด” หรือ “สมองส่วน EF” เติบโตอย่างเต็มที่ ผู้เขียนอยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจตัวเองในฐานะ “พ่อแม่” อีกสักครั้ง … แล้วเราจะพบว่า ชีวิตการเป็นพ่อแม่ ยังคงเป็นชีวิตที่ทำให้เราพัฒนาความเป็นตัวของเราเองให้ดีขึ้นได้อีก รวมถึงวิธีคิด และตรรกะในการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อเทียบกับวันที่เรายังไม่มีลูก

ชีวิตของการเป็น ‘พ่อแม่’ ก็ยังคงเป็นชีวิตที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะเรียนรู้ที่จะสอนให้ตัวเองและลูก ‘ยอมรับ’ ในสิ่งธรรมดา ๆ ของชีวิตที่เราอาจเคยมองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมดาเหล่านี้

เราควรยอมรับและเข้าใจใน ‘ความผิดพลาด’ ที่เกิดขึ้นได้ทุกวันของกันและกัน ลูกไม่ได้น่ารักทุกวัน (และบางครั้งก็นับหน่วยเป็นนาที) ในขณะเดียวกันพ่อแม่อย่างเราก็ผิดพลาดได้ บางครั้งเราอาจเผลอพูดจาที่ไม่ดีกับลูก หรือบางครั้งอาจพลั้งเผลอใช้ความรุนแรงอย่างการตีลูกเพื่อทำโทษเขาไป จงยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและเรียนรู้จากมัน ไม่ให้เกิดซ้ำ เพราะเรารู้ดีว่าความรุนแรงนั้นไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน และต่อลูก

เราควรยอมรับ ‘ความรู้สึกด้านลบ’ ของกันและกันได้ เพราะทุกคนต่างเป็นมนุษย์ปุถุชน มีรัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ น่ารัก น่าเบื่อ น่าโมโห กวนประสาท และอีกมากมาย โดยผู้ใหญ่อย่างเรามีแต้มต่อมากกว่าเด็กเพราะเรามีความสามารถในการจัดการ ‘อารมณ์ความรู้สึก’ ได้ดีกว่าลูก สุขได้ ทุกข์เป็น แสดงออกและระบายความรู้สึกได้เหมาะสม

ในขณะที่เด็กยังต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับอารมณ์ทั้งด้านบวกและลบ รวมถึงการจัดการอารมณ์เหล่านี้ เหล่านี้คือเรื่องธรรมดา จงยอมรับ ‘ความรู้สึก’ ของกันและกันอย่างเข้าใจ มันโอเคที่จะร้องไห้ออกมาดัง ๆ เพื่อระบายความรู้สึกเสียใจต่อหน้าคนในครอบครัวอย่างไม่ต้องเก็บกด เพราะครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ของคนทุกคนในครอบครัว แต่จะโกรธหรือเสียใจสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น และทำลายสิ่งของได้ นี่ควรเป็นกฎพื้นฐานของทุกครอบครัว

ความอยากได้ อยากมี การต่อรอง การร้องขอ อยากได้ของเล่น อยากกินขนมหวาน (แต่ไม่ยอมกินข้าวมื้อหลัก) อยากเล่นอีก ไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากอาบน้ำ และอีกหลากหลายความต้องการที่ลูกแสดงเจตจำนงค์ออกมาเพื่อให้พ่อแม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ ก็เป็นอีกเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ต้องเผชิญ พ่อแม่ควรยอมรับและเข้าใจกับการต่อรองเหล่านี้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีความชัดเจนว่าสิ่งใดได้ สิ่งใดไม่ได้เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองได้ในระดับที่ไม่ต้องบังคับจิตใจกัน

“พ่อเข้าใจว่าหนูอยากเล่นต่อ แต่วันนี้เราหมดเวลาเล่นแล้วครับ เราตกลงกันแล้วนะ ถึงเวลากลับบ้านแล้ว แม่รออยู่ที่บ้านแล้วครับ”

จากนั้นก็พากลับบ้านแม้เขาอาจจะยังอยากเล่นต่ออีกก็ตาม และเมื่อพ่อแม่ชัดเจน ลูกจะเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองได้ในวันต่อ ๆ มาได้เอง ในขณะเดียวกัน บางเรื่องลูกก็สามารถที่จะปฏิเสธได้ หากเงื่อนไขนั้นไม่ชัดเจนหรือไม่มีเหตุผลที่สมเหตุผลจริง ๆ เพราะคนเราทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงที่ควรได้รับการได้ยินเช่นกัน
เราควรยอมรับและเข้าใจ ‘ความแตกต่าง’ ของคนแต่ละคน ครอบครัวแต่ละครอบครัว ลูกเติบโตเพื่อไปเป็นตัวของเขาเอง ลูกแตกต่างจากเราและอาจไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการและคาดหวัง ดังนั้นเราอาจต้องยอมรับในตัวตนของเขาจริง ๆ และเลี้ยงเขาให้ดีให้เขาเติบโตไปเป็นตัวเขาในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดโดยมีพ่อแม่เป็นลมใต้ปีก และผู้ให้โอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางสังคม และทางการศึกษา จงอย่าเอาลูกไปเปรียบเทียบกับใคร ในขณะเดียวกัน ครอบครัวของเราก็ต่างจากครอบครัวอื่น

สิ่งที่ดีสำหรับครอบครัวหนึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในอีกครอบครัวหนึ่งก็ได้ จงเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับครอบครัวตามบริบทของครอบครัวของเราจริง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เหล่านี้คือเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่อย่างเราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในทุกวันของการเลี้ยงลูกที่ผู้เขียนอยากให้รู้

ที่มาข้อมูล : www.thaipbskids.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ dennisandlavery.com